จากการรายงานของสื่อจีน 'เอ้อร์สืออี้ไฉจิง' (21财经) หรือ 21st Century Business Herald ระบุในรายงานเมื่อวันที่ 16 กันยายน ว่า ราคาทุเรียนในจีนปรับลงมาอยู่ในระดับ "ลดราคาขาย" โดยลดราคาเหลือ 10 หยวนต่อกิโลกรัม
'เอ้อร์สืออี้ไฉจิง' ชี้ว่า ราคาทุเรียนเริ่มลดลงเพราะเมื่อไม่นานมานี้ ปริมาณทุเรียนทั้งหมดจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น ไทย เวียดนาม และมาเลเซีย ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดจีน ส่งผลให้เกิดการแข่งขันในตลาดก็รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ และสงครามราคาในฝั่งค้าปลีกก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
'สงครามราคา' หรือ 'เจี้ยเก๋อจ้าน'(价格战) หมายถึงการลดราคาอย่างหนักของคู่ค้าเพื่อตัดราคาซึ่งกันและกัน แม้ว่าการลดราคาจนำมาซึ่งการขาดทุน แต่คู่แข่งจะต้องทำเพื่อแย่งชิงลูกค้าในระยะยาว และเพื่อทำลายฐานลูกค้าของคู่แข่ง สงครามการค้าแบบนี้กำลังเกิดขึ้นทั่วไปในภาคค้าปลีกในจีน ตั้งแต่ ชานมไปจนถึงรถยนต์
'เอ้อร์สืออี้ไฉจิง' รายงานว่า ในเมืองจี่หนาน มณฑลซานตง ราคาทุเรียนอยู่ที่ 19.9 หยวนถึง 21.9 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม ในซูเปอร์มาร์เก็ต RT-Mart (大润发) ในท้องถิ่น ราคาทุเรียนหมอนทองอยู่ที่ 23.9 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม ซึ่งลดลงประมาณ 6 หยวนจากช่วงเดียวกันของเดือนที่แล้ว ทุเรียนหมอนทองที่ร้านของสดเหอหม่า (盒马鲜生) ขายก็มีราคาเท่ากับซูเปอร์มาร์เก็ต RT-Mart เช่นกัน
ลักษณะของการทำสงครามราคาทุเรียนเกิดขึ้นอย่างชัดเจน เช่น ตามรายงานของ 'ข่าวค่ำฉีหลู่' (齐鲁晚报) นักข่าวคนหนึ่งเพิ่งเห็นทุเรียนเจ็ดถึงแปดกล่องวางอยู่ริมถนนในร้านขายผลไม้แห่งหนึ่งในเมืองจี่หนาน และลำโพงในร้านก็เล่นเพลงประกาศขาย "ทุเรียนราคา 19.9 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม"
แต่ในเวลาเดียวกัน จากการรายงานของ 'สำนักข่าวจี๋มู่' (极目新闻报) เมื่อค่ำวันที่ 7 กันยายน หน้าร้านผลไม้ที่เพิ่งเปิดใหม่บนถนนหยางหยวนหนาน ในเขตอู่ชาง เมือง อู่ฮั่น พบว่าทุเรียนหมอนทองถูกกดราคาลงไปเหลือเพียง "9.9 หยวนต่อครึ่งกิโลกรัม" ดึงดูดให้ประชาชนจำนวนมากมาต่อแถวซื้อ ลักษณะแบบนี้คือการกดราคาต่ำกว่าความเป็นจริง เพื่อทำสงครามราคา
เจ้าของร้านบอกว่า เว่าปัจจุบันพ่อค้าผลไม้ในประเทศจีนได้เพิ่มปริมาณการนำเข้าทุเรียนและเร่งความเร็วในการขนส่งผลไม้ ทำให้ทุเรียนไม่ใช่ "ผลไม้ชั้นสูง" เหมือนในอดีตอีกต่อไป แต่ค่อยๆ กลายเป็นผลไม้ที่ประชาชนสามารถซื้อหาได้
จากสถานการณ์การทำสงครามราคาที่เกิดขึ้นในจีนรวมถึงปากคำของผู้ค้า ทำให้วิเคราะห์ได้ว่า ในช่วงแรกสงครามราคาอาจยังไม่มีผลต่อราคาทุเรียนที่ส่งออกจากไทย แต่จะมีผลต่อราคาทุเรียนไทยที่ผู้ค้าปลีกนำไปขายตัดราคากัน
ในเบื้องต้น ทุเรียนส่งออกจากไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังมีปริมาณมากในจีน เพราะมีความต้องการสูง แต่เพราะการทำสงครามราคาทำให้ราคาทุเรียนลดลงเรื่อยๆ อีกทั้งการนำเข้าจากประเทศอื่นๆ รวมถึงการที่จีนผลิตทุเรียนเองได้มากขึ้น (ดูรายงานเรื่อง "จีนจะไม่ง้อทุเรียนไทย ปลูกเองขายเองได้แล้วจนราคาดิ่ง 90% "แล้วไทยจะขายใคร?"" ) ทำให้ราคามีแนวโน้มที่จะลดลงมากกว่านี้โดยมีตัวเร่งคือสงครามราคา เราจึงต้องจับตากันต่อไปว่า มันจะส่งผลในระยะยาวต่อการส่งออกทุเรียนไทยหรือไม่
ที่มาของข้อมูล : https://www.thebetter.co.th/news/world/21842