พาณิชย์ แจง ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ ดันมาตรการแก้ปัญหา คาดราคาไม่ปรับลดจากปัจจุบัน

  “สุชาติ” เคลียร์ชัด “มาตรการช่วยเกษตรกร” เป้าหมายรัฐบาลนายกฯ แพทองธาร “เกษตรกรต้องมีกินมีใช้” คาด ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ไม่ปรับลดลงจากปัจจุบัน

  วันที่ 28 ต.ค. 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมวุฒิสภา นายเศรณี อนิลบล สว. ตั้งกระทู้ถาม น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เรื่องราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยนายสุชาติ ชมกลิ่น รมช.พาณิชย์ ได้รับมอบหมายจากนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รมว.พาณิชย์ ตอบกระทู้แทนนายกฯ

  นายสุชาติ กล่าวว่า นายกฯ ให้ความสำคัญในการช่วยเหลือดูแลสินค้าเกษตร ซึ่งถือเป็นนโยบายหลักของรัฐบาล และด้วยความเป็นห่วงของนายกฯ จึงได้ให้นโยบายให้ส่วนราชการหามาตรการต่างๆ ในการช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงพาณิชย์

  ประเด็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปริมาณข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยผลิตได้ประมาณ 4.9-5.0 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้มีประมาณ 8.91 ล้านตัน แต่ปัญหาคือการกระจุกตัวของผลผลิต โดยจะออกพร้อมกันประมาณ 70-80% ช่วงเดือนก.ย.–ธ.ค. ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวลดลง

  ในส่วนของราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ความชื้น 14.5% อยู่ที่ 9.23 บาท/กิโลกรัม และโรงงานอาหารสัตว์รับซื้ออยู่ที่ 9.80 บาท/กิโลกรัม ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี คือ ปี 62-64 อยู่ที่ 8.60 บาท/กิโลกรัม และ 9.29 บาท/กิโลกรัม ซึ่งมีสถานการณ์ปกติ ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน พบว่าราคายังสูงกว่า 7% และ 5% ตามลำดับ

  สำหรับราคาที่มีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ต้นเดือนก.ย. 2567 นั้น เกิดจากผลกระทบฝนตกหนักและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ทำให้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีความชื้นสูง ประกอบกับเกษตรกรเร่งเก็บผลผลิตที่ยังไม่ครบอายุ ส่งผลให้พ่อค้ารวบรวมปรับปรุงคุณภาพไม่ทัน มีการชะลอการรับซื้อผลผลิตของเกษตรกร

  ในเรื่องนี้ รมว.พาณิชย์ ได้สั่งการให้กรมการค้าภายใน และสำนักงานพาณิชย์จังหวัด ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเตรียมความพร้อมในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ออกสู่ตลาดมาก

  โดยจะนำผู้ซื้อนอกพื้นที่เข้าไปรับซื้อในพื้นที่ที่มีผลผลิตออกกระจุกตัว หากผู้รวบรวมในพื้นที่ไม่สามารถรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรได้ รวมทั้งกำกับดูแลการรับซื้อให้มีความเป็นธรรม ทั้งด้านคุณภาพและราคา

  รัฐบาลโดยกระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินมาตรการในการรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างต่อเนื่อง เพื่อแก้ปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกมาก เพื่อไม่ให้การกระจุกตัวของผลผลิตส่งผลต่อราคาที่เกษตรกรจะได้รับ

  โดยให้สถาบันเกษตรกรผู้รวบรวมรับซื้อผลผลิต และเก็บไว้รอจำหน่ายในช่วงที่ราคาเหมาะสม ส่งผลให้ราคาที่เกษตรกรได้รับอยู่ในเกณฑ์ดีและเป็นธรรม ซึ่งมาตรการนี้กระทรวงพาณิชย์มีโครงการที่ดำเนินการแล้วตั้งแต่ปี 2566-2567 จำนวน 2 โครงการ คือ โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร และโครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปีการผลิต 2566/67

  ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ได้ผลักดันทั้ง 2 โครงการดังกล่าวต่อ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเสนอโครงการเพิ่มช่องทางการตลาดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ปี 67/68 ต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอครม. และดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

  นอกจากการรักษาเสถียรภาพราคาแล้ว กระทรวงพาณิชย์มีมาตรการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยกำหนดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ ซึ่งในช่วงก.ย.-ธ.ค. 2567 จะเป็นช่วงที่ผู้นำเข้าทั่วไปไม่สามารถนำเข้าได้ และกรมการค้าภายในได้หารือกับโรงงานอาหารสัตว์ให้รับซื้อผลผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อราคาอย่างไม่มีเหตุผล

  สำหรับมาตรการนำเข้าข้าวสาลีที่กำหนดให้ต้องรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ 3 ส่วนต่อการนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วนนั้น ปัจจุบันยังคงมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกัน เพื่อยกระดับและรักษาเสถียรภาพราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ โดยเฉพาะในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมากในแต่ละปี ซึ่งมาตรการทั้งหมดนี้รัฐบาลจะทำอย่างจริงจัง จริงใจ เพื่อพี่น้องเกษตรกร

  “ผมคาดว่าราคาที่เกษตรกรขายได้จะไม่ปรับตัวลดลงจากราคาปัจจุบัน เนื่องจากภาครัฐมีการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคา รวมทั้งมาตรการการกำกับดูแลการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี ซึ่งจะช่วยรักษาระดับราคารับซื้อภายในประเทศ” นานสุชาติ กล่าว


อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : https://www.khaosod.co.th/monitor-news/news_9479299